ลูกศิษย์ Gen Z ความท้าทายที่ครูไทยต้องรับมือ

     เราเชื่อว่าไม่ใช่เฉพาะแค่นักการตลาดเท่านั้นที่จำเป็นต้องศึกษาพฤติกรรมและลักษณะนิสัยของกลุ่มคนใน Generation ต่างๆ แต่ “นักการศึกษาและบุคลากรทางการศึกษา” ก็เช่นกัน ที่ต้องตื่นตัวปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ รูปแบบ วิธีการเรียนการสอนเพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องกับยุคสมัย ตลอดจนพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนที่เปลี่ยนแปลงไป Blog นี้ เราจะมาทำความรู้จักกับ Generation Z ในทุกมิติถึงพฤติกรรม บุคลิกและลักษณะนิสัยว่าเป็นอย่างไร

Hello Gen Zers

     ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับ Gen Z หรือ Gen Zers กันก่อนว่ากลุ่มนี้คือใคร? Gen Z คือ กลุ่มประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 10-24 ปี เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2538-2552 เติบโตมาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายที่อยู่แวดล้อมรอบตัว มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เรียนรู้ได้รวดเร็ว และอยู่กับสื่อดิจิทัลโดยกำเนิด ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บนโลกออนไลน์ เสพติดการใช้ Social Media และ เทคโนโลยี ซึ่งในประเทศไทยมีจำนวนประชากรกลุ่ม Gen Z นี้ราว ๆ เกือบ 13 ล้านคน แบ่งเป็นหญิง 48% และชาย 52% ส่วนใหญ่กลุ่มนี้จะเป็นนักเรียน นักศึกษา อีกทั้งกำลังเข้าสู่วัยทำงาน (First Jobber) และคาดการณ์กันว่า ภายในปี 2020 คน Gen Z จะมาเป็นกำลังหลักในตลาดแรงงานของประเทศกว่า 20%

     ความโดดเด่นของเจนเนอเรชั่นนี้คือ เป็นกลุ่มที่มีการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและข้อมูลต่างๆ ในระดับที่สูงมาก ชอบอะไรที่สั้น กระชับ เข้าใจง่าย ทำให้รับรู้เร็ว และจะเลื่อนผ่านสิ่งที่ไม่สนใจทันที เนื่องจากใช้เวลาอยู่บนโลกออนไลน์และโซเชียลมีเดีย ทั้งทวิตเตอร์ เฟสบุ๊ก ยูทูป ไลน์ หรืออินสตาแกรม เป็นส่วนใหญ่ เรียกได้ว่าเป็นดิจิทัลเนทีฟ ส่งผลให้เติบโตมาพร้อมความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว Gen Zers จึงเข้าสู่วัยผู้ใหญ่รวดเร็วกว่า Gen อื่นๆ หรือสิ้นสุดวัยเด็กตอนอายุเพียง 12 ปีเท่านั้น ทำให้กลายเป็นกลุ่มที่มีความซับซ้อนและแตกต่างจากเจนเนอเรชั่นในยุคก่อนหน้า เนื่องจากเติบโตมาในยุคที่ข่าวสารและข้อมูลมหาศาลสามารถหาได้ในโลกอินเตอร์เน็ต โดย 94% ของ Gen Z ในประเทศไทย ให้ความสำคัญกับ Smartphone เป็นอันดับแรก เป็นดีไวซ์ที่ขาดไม่ได้ เพราะสามารถใช้งานได้ทุกสถานการณ์

Digital Content แบบไหนโดนใจ Gen Z 

     จากงานวิจัยของ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ในหัวข้อ “ใครไม่ SEE GEN Z” เพื่อศึกษา Insight อย่างรอบด้าน ทั้งพฤติกรรมการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการต่างๆ รวมทั้งการรับสื่อประเภทต่างๆ เพื่อให้สามารถเข้าใจ รวมทั้งการเข้าถึงคนกลุ่มนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พบว่าคนกลุ่มนี้ อินกับ Content ประเภท วีดีโอ มาเป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วยรูปภาพ และข้อความ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากบทความ Forget Millennials, Gen Z Is The Future: 5 Things to Think About โดย Ken Huges ซึ่งระบุว่า Gen Z ชื่นชอบ Youtube เพราะไม่เพียงเป็นพื้นที่ รับข้อมูลต่างๆ แต่ยังเป็นช่องทางสร้างเครือข่าย และปากเสียงในการบอกเล่าเรื่องราวของตนเอง (Broadcast Yourself) อีกทั้งยังเชื่อว่าเรื่องราวหรือสิ่งที่พวกเขาเสนอออกไปก็มีความสำคัญและน่าสนใจไม่แพ้ Youtuber คนอื่นเช่นกัน นอกจากนั้นยังเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้มีส่วนในการสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ด้วยเหตุนี้ Gen Z จึงให้ความสำคัญกับแนวทางแบบ ‘พวกเรา’ มากกว่า ‘ตัวเอง’ (‘WE’ than ‘ME’)

Gen Z ในชั้นเรียน

     จากงานวิจัย เรื่อง Personality Traits of Thai Gen Z Undergraduates: Challenges in the EFL Classroom? โดยงานวิจัยชิ้นนี้ได้ศึกษาพฤติกรรมในชั้นเรียนของเด็กไทยในระดับปริญญาตรีซึ่งเป็นกลุ่ม Gen Z ซึ่งสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกประหลาดใจที่สุดจากผลของการวิจัย คือ พฤติกรรมคล้อยตามผู้อื่นได้ง่าย ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่โดดเด่นที่สุด พฤติกรรมเช่นนี้จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงเมื่อเด็กอยู่ในชั้นเรียน ด้วยพฤติกรรม เออออห่อหมกตามๆ ผู้นำในกลุ่ม เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะ ไม่อยากโต้แย้งแข่งขัน พฤติกรรมเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องของการที่เด็กเป็นคนว่านอนสอนง่าย ประนีประนอม แต่แสดงถึงการขาดภาวะความเป็นผู้นำ และขาดการแสดงความคิดเห็นในเชิงคิดวิเคราะห์ นอกจากนี้ยังขาดในเรื่องของทักษะทางการสื่อสาร และทักษะทางสังคม ไม่ชอบการทำงานเป็นทีม และชอบทำอะไรคนเดียวมากกว่า อีกทั้งมีช่วงของความสนใจที่สั้นและจำกัด เนื่องจากเติบโตมาในยุคที่เต็มไปด้วยข้อมูลที่มีอย่างมหาศาล การเลือกที่จะรับข้อมูลที่ตนเองสนใจและไม่สนใจ ก็เพียงแค่เลื่อนผ่านไปเท่านั้น อีกทั้งยังเคยชินกับการใช้ข้อความสั้นๆ ใน Social Media และ Application สำหรับการสื่อสาร Online

     หากจะสรุปสั้นๆ ให้ตรงประเด็นคือ เด็กไทยกลุ่ม Gen Z นั้น ยังต้องพัฒนาทักษะทั้ง Soft Skills และ Social Skills ซึ่งรูปแบบพฤติกรรมนี้เองที่เป็นสิ่งที่เราจะต้องขบคิดกันต่อว่าจะทำอย่างไรถึงจะดึงความสนใจ และเลือกใช้เครื่องมือใดเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่างผู้เรียนต่อผู้เรียน และผู้เรียนต่อผู้สอนในชั้นเรียนให้ได้อย่างเกิดประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลที่สุด แต่ในขณะเดียวกันการสร้างปฏิสัมพันธ์เหล่านั้นในชั้นเรียนก็ต้องมีความยืดหยุ่นเพียงพอเพื่อลดความขัดแย้งภายในกลุ่มให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด

ความท้าทายของผู้สอนต่อลูกศิษย์ Gen Z

     แน่นอนว่าผู้สอนจะต้องพบกับความท้าทายในการสอนลูกศิษย์ Gen Z ซึ่งเป็นได้ทั้งเรื่องของช่องว่างระหว่างวัยที่แตกต่างกัน ตลอดจนบริบทของสภาพแวดล้อม และสังคมที่ต่างกันอย่างสุดขั้ว หากเปรียบเทียบถึงในสมัยที่ผู้สอนยังเป็นนักเรียนหรือนักศึกษาอยู่ ดังที่ได้กล่าวข้างต้นแล้วว่ากลุ่ม Gen Z เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี หากผู้สอนไม่มีความรู้หรือมีความชำนาญในการใช้เทคโนโลยีแล้ว ก็อาจจะรู้สึกยากลำบากและต้องปรับตัวอยู่บ้าง เนื่องจากการเรียนการสอนในชั้นเรียนปัจจุบันนี้ได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เรียนในยุคดิจิทัลนี้

     อ่านมาถึงตรงนี้ ก็อย่าเพิ่งท้อ อุปสรรคคือความท้าทายที่เราจะต้องแก้ไขและเอาชนะมัน เราได้รวบรวมงานวิจัยพฤติกรรมของกลุ่ม Gen Z โดยสรุปแบบเนื้อๆ พร้อมแหล่งข้อมูลให้ได้ตามไปอ่านต่อกันแล้ว ดังนั้น “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” ดังคำกล่าวของซุนวู ทีนี้เรามาเริ่มต้นเจาะกันเป็นประเด็นๆ กันดีกว่า

1. ผู้สอนไม่ถนัดและไม่คุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยี

ทางแก้ : เริ่มต้นจากปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อเทคโนโลยีก่อนเป็นอันดับแรก ต้องยอมรับความจริงให้ได้ว่าหนีไม่พ้นแน่นอน อย่างน้อยที่สุดลองไปใช้งานและทำความเข้าใจกับ Social Media ต่างๆ ที่กลุ่ม Gen Z ใช้เป็นประจำ เช่น Facebook, Instagram, Twitter และ Youtube โดยอาจเริ่มที่การ “ส่อง” เข้าไปสำรวจดูวิธีการใช้งาน หากไม่เข้าใจ เราแนะนำว่าให้ลองถามลูกศิษย์เลยว่าตรงไหนที่ไม่เข้าใจ เราเชื่อว่านอกจากคุณจะได้รับคำแนะนำและความช่วยเหลือเป็นอย่างดี คุณจะได้ใจจากลูกศิษย์ไปแน่นอน

Tips สร้างความกันเองกับลูกศิษย์ ลดช่องว่างระหว่างวัย กลุ่ม Gen Z ไทย ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัว และเพื่อนฝูงมาเป็นอันดับต้นๆ อีกทั้งหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ดังนั้นคุณควรสร้างความสัมพันธ์ที่เป็นพวกเดียวกันกับเขา แชร์ความสนใจที่เป็นลักษณะร่วมกัน และอย่าถือสาหากจะมีความทะลึ่ง ทะเล้นจากลูกศิษย์คุณบ้าง มองเป็นสีสันในชีวิตแล้วทุกอย่างจะดีเอง

2. ผู้เรียนมีช่วงเวลาการรับรู้สั้น และจำกัด ดังนั้นต้องสั้น กระชับ ดึงดูดความสนใจ ไม่งั้นเบื่อ

ทางแก้ : หาทางดึงความสนใจ หากผู้เรียนเริ่มแสดงความไม่สนใจในสิ่งที่สอน ลองเปลี่ยนเรื่องชวนผู้เรียนคุย เช่น VDO Clip ที่กำลังเป็น Viral อยู่ในตอนนี้, Application เจ๋งๆ ที่น่าสนใจ หรือ ลองชวนลูกศิษย์ให้คิดเชิงวิเคราะห์กับเนื้อหาที่คุณสอนอยู่ เช่น ลองตั้งคำถามว่าถ้าบทเรียนที่คุณกำลังสอนอยู่นี้ จะเอาไปพัฒนาในรูปแบบดิจิทัล คิดว่าควรจะอยู่ในรูปแบบไหน? และเพราะอะไร? ช่วยกันเสนอความคิดเห็น สร้างการต่อยอดความคิดภายในชั้นเรียนเพื่อให้ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์ต่อ ทีนี้ล่ะ คุณจะดึงลูกศิษย์ของคุณอยู่หมัด แถมยังสร้าง Interactive ให้เกิดขึ้นภายในชั้นเรียนได้เป็นอย่างดี

Tips ยิงคำถามเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี และควรตั้งคำถามปลายเปิด ไม่เน้นถูกผิด เน้นการแสดงทักษะคิดเชิงวิเคราะห์ พยายามให้ผู้เรียนส่วนใหญ่ในชั้นเรียนมีส่วนร่วมด้วยการคิดต่อยอดให้มากที่สุด

3. ผู้เรียนขาดความคิดในเชิงสร้างสรรค์ และขาดภาวะผู้นำ

ทางแก้ : หากคุณยังไม่รู้จัก Pinterest เราขอแนะนำให้คุณรู้จักเป็นอย่างยิ่ง เว็บไซต์นี้ คือ Social Network ที่มีจุดเด่นคือ เสมือนการจำลองบอร์ด ที่ให้เราปักหมุดสิ่งที่เป็นความสนใจของตนเอง (Pin + Interest = Pinterest) โดยคุณจะสามารถหาและ Pin รูปภาพต่างๆ ที่เป็นความสนใจ และสร้างแรงบันดาลใจ ไว้ในบอร์ดได้อย่างมากมายเลยทีเดียว ก่อนถึงชั่วโมงเรียนครั้งต่อไป ลองสั่งงานลูกศิษย์คุณให้เปิดบอร์ดสัก 3 บอร์ด และ Pin สิ่งที่ตนเองสนใจ จากนั้น Capture หน้าจอ พิมพ์ออกมา ในชั้นเรียนให้ลูกศิษย์คุณเล่าถึงประสบการณ์การใช้งาน Pinterest รวมถึงสิ่งที่แต่ละคนสนใจ และหากได้เป็นผู้ประกอบการในสิ่งที่ตนเองสนใจ หรือได้ทำอาชีพที่ตนเองสนใจนั้น จะมีวิธีการหรือช่องทางการขายสิ่งนั้นอย่างไร ไม่แน่คุณอาจจะพบว่าลูกศิษย์ของคุณมีความสนใจในรอยสัก (Tattoo) และอยากเป็นช่างสักก็ได้ และใครจะรู้เมื่อเค้าโตขึ้นอาจจะมีชื่อเสียงระดับโลกก็เป็นได้ (ซึ่งเราขอย้ำอีกครั้งว่า อย่าด่วนตัดสิน เราต้องการฟังความคิดของเขา ไม่ใช่วิพากษ์วิจารณ์เขา และอย่าลืมที่จะให้กำลังใจลูกศิษย์ของคุณเสมอ ว่าพวกเขาสามารถทำได้ และคุณเชื่อมั่นในความสามารถและศักยภาพของพวกเขา)

Tips หากประยุกต์ใช้กับวิชาภาษาอังกฤษ อาจสามารถให้เด็กนำเสนอโดยการพูดเป็นภาษาอังกฤษ ก็สามารถช่วยเพิ่มทักษะการใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันได้ เพราะหลายครั้งเรารู้สึกว่าผู้เรียนมีความเครียดกับภาษาอังกฤษแบบ Academic มากเกินไป ทำให้กลัวว่าจะพูดผิดหลักไวยากรณ์ ตรงนี้เราขอแนะนำว่าเรื่องไวยากรณ์ให้ปล่อยผ่าน จุดประสงค์ คือ ให้ “กล้าพูดกล้าแสดงออก” สร้างภาวะผู้นำก่อน ทักษะทางภาษาปรับกันภายหลังได้ไม่ยาก

     เราเชื่อมั่นในศักยภาพของครูไทยว่าจะสามารถผลักดันขีดความสามารถไปได้ไกลเพื่อถึงจุดหมาย และด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครูนั้น ย่อมต้องมุ่งหวังให้ศิษย์เจริญก้าวหน้าเป็นคนดีของสังคมอยู่แล้ว โดยจากดัชนีความเชื่อมั่นครูไทย ปีพ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา จากสวนดุสิตโพล ระบุว่า…

  • 36.31% มีความมุ่งมั่นในการศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ
  • 17.04% ให้การอบรมสั่งสอนที่ดีไม่ยึดติดความคิดแบบเดิม
  • 13.88% มีการจัดรูปแบบการเรียนการสอนที่หลากหลายมากขึ้น

Source : Salika

     ซึ่งเราคิดว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี และนิมิตหมายอันดีถึงการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาที่สำคัญ แม้ว่ายังมีจุดที่ขาดอยู่บ้าง คือเรื่องของการขาดทักษะด้านเทคโนโลยีและภาษาต่างประเทศ แต่เราก็ยังมองในแง่ดีถึงจุดเด่น 3 ข้อที่ยกขึ้นมากล่าวนี้ เพราะเราเชื่อเสมอว่า “สิ่งที่เป็นทักษะ พัฒนาเพิ่มขึ้นได้เสมอ” และทัศนคติที่ดีในเรื่องของการเปลี่ยนแปลง จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้จริงๆ

Source:

error

หากชอบ Blog ของเรา อย่าลืมบอกต่อ :)